- องค์พระธาตุ หมายถึงองค์พระบรมธาตุทุ่งยั้งเป็นโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือศรัทธาในทางพระพุทธศาสนาของชาวเทศบาลตำบลพระเสด็จ และประชาชนทั่วไปทั้งจังหวัดอุตรดิตถ์ ภายในพระบรมธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
- รัศมี 9 แฉก หมายถึง เลขมงคล ความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาและบ้านเมือง
ในปี พ.ศ.2450 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น กรมขุนเทพทวารดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมาร ได้เสด็จสวรรคโลกเพื่อชมเมืองพระร่วง พระองค์ได้เสด็จตามถนนพระร่วงเริ่มตั้งแต่กำแพงเพชร จนถึงศรีสัชนาลัยเป็น ระยะทาง 250 กิโลเมตร ในการเสด็จครั้งนี้พระองค์มีความประสงค์จะเสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ด้วยทางเมืองอุตรดิตถ์จึงได้ทำพลับพลา ประทับแรมไว้คอยต้อนรับเสด็จ ที่พระแท่นฯ เป็นพลับพลารับเสด็จชั่วคราว ที่ลับแลเป็นพลับพลาประทับแรม และที่วัดพระฝางทำพลับพลาชั่วคราว รวม 4 พลับพลาด้วยกัน พระองค์ได้เสด็จโดยพาหนะช้าง บรรลุอุตรดิตถ์ที่วัดพระแท่นฯ ขณะนั้นเป็นเพลาเพ็ญเดือน 3 วัดพระแท่นฯ มีงานนมัสการพระแท่นฯ ประชาชนกำลังคับคั่งมาก เมื่อพระองค์เสด็จเข้ามาถึงลานพระแท่นฯ กองทหารก็ตั้งรับเสด็จ พระองค์ลงจากหลังช้างแล้วเสด็จขึ้นพักบนพลับพลาชั่วคราว คนที่มานมัสการพระแท่นฯ ได้เห็นพระองค์โดยใกล้ชิด เมื่อพระองค์ได้นมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์โดยเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จไปประทับแรมที่พลับพลาในเมืองอุตรดิตถ์ การเสด็จครั้งนี้ได้จัดมวยชกถวายหน้าพระที่นั่งให้ทอดพระเนตร กลางคืนมีหุ่นกระบอกเล่นถวาย การรับเสด็จครั้งนี้จัดทำกันอย่างสมพระเกียรติยิ่ง และเมื่อพระองค์เสด็จไปชมเมืองลับแลและประทับแรมแล้วเสด็จไปวัดพระฝาง ต่อจากนั้นก็เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร (วัดพระแท่นศิลาอาสน์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูพุทธมัญจารักษ์ ,2539 : หน้า 28)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนิพนธ์เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองอุตรดิตถ์ และเมืองพิษณูโลก ตอนที่ 19 อุตรดิตถ์ – ลับแล – ทุ่งยั้ง ไว้อีกตอนหนึ่งว่า (วัดพระแท่นศิลาอาสน์ งานพระราชทานเพลิงศพพระครูพุทธมัญจารักษ์ ,2539 : หน้า 56 – 56)
อุตรดิตถ์ – ลับแล – ทุ่งยั้ง
การดูสถานที่ต่างๆ ที่เมืองสวรรคโลกเป็นอันเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ครั้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เวลาเช้า 4 โมงเศษ ออกจากที่พักริมวัดน้อย ข้ามลำน้ำยมไปฝั่งเหนือแล้วจึงขึ้นม้าเดินทางไปตามทางที่ ราษฎรเดินขึ้นไปไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ เดินไปจากฝั่งน้ำได้ 40 เส้น มีศาลาอีกหลังหนึ่งค่อนข้างจะเขื่อง มีระยะ 200 เส้น มีศาลาแฝดกับสระน้ำเป็นที่ทุ่งโถงต่อนั้นไปอีก 90 เส้นถึงหนองไก่ฟุบ มีศาลาหลังหนึ่งกับสระน้ำ ได้พักร้อนและกินกลางวันที่หนองวันที่หนองไก่ฟุบ ทางที่เดินแต่ลำน้ำยมไปถึงที่นี้นับว่าอยู่ข้างจะสะดวก เพราะผ่านไปในป่าโดยมากแดดไม่ค่อยร้อน ม้าขี่วิ่งบ้างเดินบ้างชั่วโมงเศษเท่านั้น กินกลางวันแล้วขี่ช้างเดินตามทางขึ้นพระแท่นฯ ต่อไปทาง 250 เส้น ถึงด่านแม่คำมันพรมแดนเมืองสวรรคโลกกับเมืองพิชัยต่อกัน พักแรมที่นี้ซึ่งมีศาลาพักคนเดินทางขึ้นพระแท่นอยู่หลังหนึ่ง ที่ในคลองแม่คำมันปลาชุม เพราะมีน้ำอยู่ตลอดปีไม่แห้ง ลำน้ำนี้ได้จากห้วยน้ำห้วยช้าง ซึ่งไหลจากภูเขาเมืองลับแล
รุ่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เวลา 4 โมงเศษ ออกจากด่านแม่คำมันขี่ม้าไปตามถนนพระแท่นอีกทางไปในทุ่งโดยมาก การเดินทางอยู่ข้างจะร้อนกว่าวันก่อนนี้ ผ่านศาลาที่พักกลางทางหลังหนึ่งจวนถึงพระแท่น เดินไปบนถนนซึ่งถมเป็นคันสูงข้ามทุ่ง เพราะตรงนี้เป็นที่ลุ่ม ไปหมดถนนเพียงบ่อหัวดุม ที่ใกล้บ่อมีศาลาที่พักแต่ไม่พอกับคนที่มาไหว้พระแท่น เพราะฉะนั้นได้เป็นซุ้มปักเป็นที่พักชั่วคราวอยู่มาก เวลาเข้า 4 โมงเศษถึงวัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นเคราะห์ดีที่ไป ได้พอเวลาเทศกาลราษฎรขึ้นไหว้พระแท่น กำหนดวันขึ้น15 ค่ำเดือนสาม วันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ จึงได้เห็นคนอยู่มาก ที่ถนนตรงหน้าพระแท่นออกไปมีร้านขายของต่างๆ คนเดินไปมาเบียดกันแน่นคล้ายพระพุทธบาทในเวลาเทศกาล อยู่ข้างจะครึกครื้นมาก ได้ฉายรูปหมู่คนไว้ดูเล่นแล้วจึงเข้าไปนมัสการพระแท่น พระแท่นศิลาอาสน์นี้ผู้ที่ไม่เคยไปมักอยากไปมาก แต่ครั้นเมื่อไปถึงแล้วคงรู้เสียใจ ตัวพระแท่นเองก็ไม่เห็น เพราะมีเป็นพระแท่นทำด้วยไม้ครอบศิลาอยู่ มีของดีเด่นอยู่ที่บานประตู ซึ่งคล้ายบานประตูวิหารพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลกนั้นมาก
กินกลางวันที่ศาลาใกล้วัดพระแท่นนั้นแล้ว ขึ้นม้าขี่เข้าไปเมืองอุตรดิตถ์ทางถนนพระแท่น ที่ตั้งอยู่ริมลำน้ำแควใหญ่ทางแถบที่ว่าการเมืองพิชัย เมืองอุตรดิตถ์หรือที่เรียกตามที่ใหม่ว่าเมืองพิชัยนี้ เป็นเมืองใหม่แท้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องป่วยการเที่ยวหาของโบราณอะไร ดูแต่ของใหม่ๆมีดูหลายอย่าง ที่มีเป็นเมืองสำคัญในมณฑลนี้แห่งหนึ่ง เพราะเป็นเมืองด่านที่พักสินค้าขึ้นล่องมาก เพราะฉะนั้นคนพ่อค้าพาณิชอยู่ข้างจะมีมาก ตลาดท่าอิฐมีร้านรวงอยู่มากครึกครื้น มีข้อเสียใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง คือตลาดท่าอิฐนี้ต้องน้ำท่วมทุกปีจึงไม่น่าจะเป็นที่ถาวรอยู่ได้ น่าขยับขยายตลาดเข้าไปเสียให้ห่างจากฝั่งแม่น้ำอีกสักหน่อย
ถ้าจะเล่าถึงเมืองอุตรดิตถ์ต่อไปอีกก็ได้อีกบ้าง แต่ความตั้งใจของข้าพเจ้ามีอยู่ว่า จะเล่าเรื่องของโบราณในเมืองเหนือ ซึ่งเป็นของที่มีคนได้น้อย ยิ่งกว่าที่จะเล่าถึงของที่มีและเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงต้องของดไว้ไม่กล่าวถึงอุตรดิตถ์อีกต่อไปมากกว่านี้
แต่ถึงได้มาพ้นแดนเมืองสวรรคโลกแล้วก็ดี ยังมีที่พึ่งดูซึ่งเกี่ยวข้องในทางโบราณคดีอยู่บ้างในที่ใกล้ๆอุตรดิตถ์ กล่าวคือตามแถบลับแลกับทุ่งยั้ง
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่ลับแล ออกจากที่พักที่อุตรดิตถ์ขี่ม้าไปทางบ้านท่าอิฐ เดินตามถนนอินใจมีไปทางเมืองลับแล พระศรีพนมมาศได้จัดแต่งที่พักไว้ท่าตำบลม่อนชิงช้า ที่ริมที่พักนี้พระศรีพนมมาศกับข้าราชกาลและราษฎร ได้เรี่ยวไรกันสร้างโรงเรียนขึ้นโรงหนึ่ง ซึ่งขอให้ข้าพเจ้าเปิดข้าพเจ้าได้เปิดให้ในเวลาบ่าย วันที่ 19 กุมภาพันธ์นั้น และให้นามว่า “โรงเรียนพนมมาศพิทยากร” แล้วได้เลยไปที่เขาม่อนจำศีลบนยอดเขานี้แลดูเห็นที่แผ่นดินโดยรอบได้ไกล มีทุ่งนาไปจนสุดสายตา แลเห็นเขาเป็นทิวเทือก ซ้อนสลับกันเป็นชั้นๆ ราวกับกำแพงน่าดูหนักหนา
รุ่งขึ้นวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้ากับพวกที่ไปด้วยกัน ได้ช่วยกันเริ่มถมทำนบปิดลำน้ำอยู่ริมม่อนชิงช้า เป็นความคิดของพระศรีพนมมาศจัดทำฝายต่อไป เหมืองฝายในเขตลับแลนี้พระศรีพนมมาศได้จัดทำไว้มากแล้วเป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกมากเพราะมีน้ำใช้ได้ตลอดปี ที่ลับแลสมบูรณ์มากทั้งไร่นา และสวนผลไม้ต่างๆ หากินได้เสมอ นับว่าพระศรีพนมมาศเป็นนายอำเภอดีอย่างยิ่งคนหนึ่ง
เวลาบ่ายออกจากที่พักตำบลม่อนชิงช้า ขี่ม้าไปตามถนนพระแท่นเข้าเขตทุ่งยั้ง ซึ่งบัดนี้รวมอยู่ในอำเภอลับแลด้วย ลัดเข้าไปในป่าดูที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะ ที่นี้เป็นที่ชอบกลตอนนอกสุดมีเป็นเนินดินมีคูเล็กๆ หลังเนินแล้วถึงกำแพงเตี้ยๆ ก่อด้วยดินกับแลง หลังกำแพงนี้มีคูใหญ่กว้าง 8 วา 2 ศอกคืบ ลึกประมาณ 2 วา ขุดลงไปในแลง เพราะฉะนั้นข้างคูแลเห็นและเรียบประดุจคลองซึ่งก่อเขื่อนแลงอย่างเรียบร้อย กลางคูมีเป็นคันซึ่งเข้าใจว่าคงใช้เป็นถนนสำหรับเดินตรวจรักษาหน้าที่เชิงเทินชั้นนอก บนสันคันนั้นกว้าง 3 วาคัน สูงพ้นพื้นคูขึ้นมา 5 ศอก 6 นิ้วคันนี้เป็นแลงทึบทั้งอัน ถนนนี้ปั้นเป็นคูเป็นร่อง 2 ร่อง ร่องนอกกว้าง 4 วาร่องในกว้าง 6 ศอกคืบในคูเข้าไปมีกำแพงก่อด้วยแลงเป็นแผ่นอิฐ ซึ่งเข้าใจว่าคงจะขุดขึ้นมาจากในคูนั้นเอง.
เรื่องเล่าขานตำนานบึงมาย
นครมาย” มีอาณาจักรที่เห็นเป็นเขตบึงมายทั้งหมดภายในเขตพระราชฐานมีปราสาท ราชวัง ศิลปะสร้างแบบขอมโบราณ เน้นแข็งแรงมั่นคงแน่นหนามากกว่าสวยงาม ชาวเมืองนับถือเซ่นไหว้ภูตผีและงูเผือกซึ่งมีตัวเดียวอยู่อาศัยในเมืองนี้เรียกว่างูเจ้า เชื่อกันว่าปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองให้สงบร่มเย็น มีสายน้ำมายไหลรอบล้อมเมือง ฝูงปลาน้ำจืดชุกชุมชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมง
เจ้าเมืองสิ้นพระชนม์ ราชสมบัติตกเป็นของพระธิดาพระองค์เดียวของพระองค์ครอง
ราชย์บัลลังก์ปกครองบ้านเมืองสืบแทนพระราชบิดา นางกษัตริย์นี้พระนามว่า “พระนางเยาวเทวี” พระนางฯ ไม่มีพระสวามี
ภายในอุทยานหลวง บังเกิดแอ่งน้ำประหลาดเล็ก ๆ ตื้นเขินใต้ร่มไม้ น้ำสีขาวขุ่นเรี่ยอยู่ทหารนายหนึ่งไปพบงูเห่าเผือกซึ่งเชื่อกันว่าเป็นงูเจ้ากำลังดื่มกินน้ำในแอ่งประหลาดแล้วเลื้อยหนีหายไป น้ำยังเหลืออีกเพียงนิดเดียว นายทหารนั้นนำความไปกราบทูลพระนางเยาวเทวี พระนางเสด็จด้วยพระองค์เอง นั่งเสลี่ยงมาหยุดที่แอ่งน้ำประหลาด ความชราภาพทำให้พระนางทรงกล้าเสี่ยง ทรงสั่งทหารตักน้ำทั้งหมดนั้นมาถวาย ทรงดื่มเสวยเพียงพระองค์เดียว มิได้ให้ผู้ใดทดลองดูก่อนว่าจะมีพิษหรือไม่ ทันใดนั้นเอง พระนางกลับกลายเป็นหญิงสาวแรกรุ่นดรุณีอย่างน่าอัศจรรย์ ทรงพระสิริโฉมโสภาไม่มีหญิงใดเสมอเหมือน ความงามของพระนางเป็นที่เลื่องลือถึงต่างแคว้นต่างเมือง ในที่สุดพระนางได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ “ขุนลือ” เจ้านายชั้นสูงแห่งอาณาจักรล้านนา เมืองมายจึงมีเจ้าผู้ครองนครเป็นชายอีกครั้งหนึ่ง เจ้าขุนลือพาพระญาติสนิทชื่อขุนเครือตามเสด็จมาช่วยดูแลทางด้านการปกครองและการทหาร
พระนางเยาวเทวีประสูติพระโอรส พระนามพระโอรสอโนชา ต่อมาประสูติพระธิดาพระนามว่ายอดดรุณี
ขุนเครือเสด็จเยี่ยมอาณาจักรลานนา นำพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางลีลาองค์ใหญ่ ศิลปะแบบสุโขทัยมาด้วย ขุนลือโปรดให้สร้างวิหารในเขตพระราชฐานเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ขุนลือตั้งพระทัยที่จะเผยแพร่พุทธศาสนาแต่ยังไม่ทันถ่ายทอดหลักการและเนื้อหาแห่งธรรมอันใด พระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อนด้วยโรคไข้ป่า พระพุทธรูปจึงเป็นที่สักการบูชากราบไหว้ มีปี่พาทย์บรรเลงทุกคืนวันพระตามรับสั่งของพระนางเยาวเทวี เพื่อเป็นการรำลึกถึงขุนลือ
พระโอรสอโนชาเสด็จไปพบงูเผือกซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ดื่มน้ำอมฤตแอ่งเดียวกับ พระนางเยาวเทวีติดตาข่ายดักปลาของชาวประมง จวนเจียนจะสิ้นชีวิต พระโอรสทรงช่วยไว้และนำงูเผือกมาไว้ในเขตพระราชฐาน สั่งจัดสร้างรูปปั้นงูเผือกไว้ในอุทยาน เพื่อบอกอาณาเขตที่อยู่อาศัยของงู พระนางเยาวเทวีและพระญาติวงศ์ ขุนนางน้อยใหญ่ต่างพากันยินดีปรีดาเป็นอย่างยิ่งเพราะเชื่อกันว่างูเผือกนี้เป็นงูเจ้าสามารถปกป้องอันตรายจากศัตรูต่างเมืองที่คิดร้ายจะเข้ามาทำลาย จาการที่ทรงช่วยชีวิตงู นับแต่นั้นเป็นต้นมา บรรดางูทั้งหลายจึงเป็นข้าทาสบริวารที่ซื่อสัตย์ต่อพระโอรสอโนชา
พระนางเยาวเทวี ส่องพระฉายตกพระทัยทอดพระเนตรพระเกศาของพระนางเองหงอกขาวหลายเส้น ความชราภาพมาเยือนพระนาง หาได้เป็นอมตะตลอดกาลไม่ พระนางทรงคิดตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เอง สั่งนายทหารจับงูซึ่งเคยดื่มน้ำอมฤตก่อนและมากกว่าพระนาง ฯ ทรงมีความเชื่อมั่นว่าน้ำอมฤตได้แทรกซึมอยู่ในเนื้องูเจ้ามากกว่า พระนางสั่งฆ่างูเจ้านั้นให้แม่ครัวปรุงอาหาร ทรงเสวยเนื้องูเผือก นั้นเพียงลำพัง โดยที่พระโอรสและพระธิดามิทรงทราบเรื่องนี้
ในค่ำคืนเดียวกันนั้นเอง ได้เกิดเหตุวิปริตใหญ่หลวง จู่ ๆ ลมพายุพัดกระหน่ำเมือง ปราสาทราชวัง บ้านเรือนพังพินาศย่อยยับ ต้นไม้น้อยใหญ่หักโค่นล้ม ผู้คนแตกตื่น แผ่นดินไหวสะเทือนเลื่อนลั่น พระนางเยาวเทวีประทับเรือพระที่นั่งหนีภัยพร้อมพระโอรสและพระธิดา เสียงร้องขอความช่วยเหลือระงมทั่วทั้งเมือง เรือพระที่นั่งล่มจมหายพร้อมกับร่างนางกษัตริย์ พระโอรส พระธิดาที่บริเวณ บ้านตลิ่งต่ำปัจจุบันแผ่นดินมายแยกออก สูบกลบฝังนครมายไม่มีเหลือแม้สัตว์เล็กสัตว์น้อย เมืองมายสาบสูญไม่หลงเหลือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้เห็น กลับกลายเป็นบึงกว้างไกลเท่านั้น
ทุกคืนวันพระจะมีเสียงปี่พาทย์และดวงไฟลอยขึ้นมาจากกลางบึงว่ากันว่าดวงไฟเป็นวิญญาณของคนเฝ้าบึงมาย บางวันก็จะมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางลีลาปรากฏขึ้นกลางบึงลอยขึ้นมาแล้วก็หายไป ในฤดูแล้งชาวบ้านพากันไปขุดหาก็ไม่พบ ชาวบ้านริมบึงเชื่อกันว่าแสงสีนวลที่พุ่งลอยทุกวันพระและพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางลีลาปรากฏขึ้นกลางบึงแล้วหายไป เป็นเครื่องหมายบอกให้คนทำความดี
ชาวบ้านเชื่อกันว่าบึงมายเป็นเมืองเก่าแต่ว่าทำไมเมืองจึงล่ม
มีเรื่องเล่ากันหลายอย่าง
- บ้างก็ว่าเจ้าเมืองประพฤติผิดศีลธรรมเลยถูกผีบ้านผีเมืองสาปนครมายกลายเป็นบึง
- บ้างก็ว่าพญานาครุกรานเข้ายึดครองเมืองได้สำเร็จแล้วพ่นไฟเผาเมืองวอดหมดแล้วพ่นน้ำสร้างบึงเป็นที่อยู่ของพญานาค
- บ้างก็ว่าเมืองมายถูกศัตรูเผาวอดแผ่นดินร้อนระอุไม่มีที่ยึดเกาะจึงพลิกกลับกลายเป็นบึง ฯลฯ